ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย ของ ความโปร่งใส (การเมือง)

ประเทศไทยตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2500 ขึ้นชื่อเรื่องรัฐบาลที่มีความเป็นระบบราชการสูงจนนักวิชาการอย่าง เฟร็ด ดับบลิว ริกส์ (Fred W. Riggs) เรียกการปกครองของไทยว่าเป็นรัฐราชการ หรือ รัฐอำมาตยาธิปไตย (bureaucratic polity) ซึ่งหมายถึงการบริหารราชการแผ่นดินของข้าราชการที่สร้างภาพลักษณ์ของความเป็นผู้ปกครองแบบเจ้าขุนมูลนาย และมองประชาชนเจ้าของอำนาจเป็นเพียงผู้ถูกปกครอง ดังนั้นช่วงเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 - 2540 การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการของคนไทยจึงถูกกีดกันประการหนึ่งจากระบบความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการกับประชาชนที่เป็นเสมือนเจ้านาย กับ บ่าว กับอีกประการหนึ่งจากขั้นตอน และกระบวนการที่ทำให้เกิดความยุ่งยาก และซับซ้อน สร้างขั้นตอนเกินจำเป็น (red tape) ของระบบราชการไทย[5]

จนกระทั่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 3/1 และ 71/10 (5) ได้นำไปสู่การออกพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 6 ที่มีใจความสำคัญว่าการบริหารราชการแผ่นดินนั้นจะต้องก่อให้เกิดประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น และบริการตลอดจนอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ซึ่งการอำนวยความสะดวกนี้รวมถึงมาตรา 43 ที่ระบุว่า

"การปฏิบัติราชการในเรื่องใดๆ โดยปกติให้ถือว่าเป็นเรื่องเปิดเผย เว้นแต่กรณีมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล จึงให้กำหนดเป็นความลับได้เท่าที่จำเป็น"

จะเห็นได้ว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวของไทยนั้นระบุถึงหลักการความโปร่งใสทางการเมืองอย่างชัดเจนเช่นเดียวกันกับที่เกิดขึ้นกับระบบการเมืองการปกครองของโลกตะวันตก แต่จะสังเกตได้ว่าประเทศไทยเองก็เป็นเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่ยังคงมีการสงวนรักษาพื้นที่ที่เรียกว่า "ความลับของทางการ" อยู่ด้วยเช่นกัน แตกต่างก็ตรงที่ พื้นที่ตรงจุดนี้ของไทยนั้นยังไม่ได้รับการทำให้เป็นสมัยใหม่ (modernize) โดยการจัดระบบ และทำให้เกิดความชัดเจนให้เกิดขึ้นในบริเวณที่เป็นพื้นที่สีเทานี้ด้วยการตรากฎหมายเฉพาะ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในอินเดีย สหรัฐอเมริกา และอีกหลายๆ ประเทศ ดังนั้น ประเทศไทยในปัจจุบันจึงยังคงมีช่องโหว่ของกระบวนการตรวจสอบ และการทำให้เกิดความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ ทั้งกระบวนการออกนโยบายสาธารณะ และการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำ และข้าราชการทางการเมือง ซึ่งในหลายกรณีมักเกิดขึ้นผ่านข้ออ้างของนักการเมือง และข้าราชการดังที่ระบุในตัวบทกฎหมายว่า เป็นเรื่องของความมั่นคง และความสงบเรียบร้อย ซึ่งไม่อาจมีใครสามารถพิสูจน์ หรือ รับรู้ความเป็นจริงดังกล่าวนั้นได้เลยนอกเสียจากตัวรัฐบาล ดังนั้นก้าวต่อไปของกระบวนการสร้างความโปร่งใสของรัฐบาลไทย จึงอยู่ที่การยอมเปิดเผยพื้นที่สีเทานี้ให้ชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะด้วยการออกกฎหมาย หรือ การกำหนดกลไกการตรวจสอบจากองค์กรอิสระต่างๆ จึงจะทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเจตนารมณ์ของแนวคิดเรื่องความโปร่งใสทางการเมืองได้อย่างแท้จริง[6]

ปัจจุบันประเทศไทยมีพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ที่ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของทางราชการให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยกำหนดวิธีการเปิดเผยข้อมูลไว้ 3 วิธี ได้แก่

  1. การพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา (มาตรา 7)
  2. การจัดไว้ให้ประชาชนตรวจดู (มาตรา 9) และ
  3. การจัดหาให้เอกชนเป็นการเฉพาะราย (มาตรา 11)[7]

และยังมีองค์กรเพื่อความโปร่งใสเป็นของเราเอง ซึ่งมีหลักการทำงาน และกุศโลบายที่คล้ายคลึงกับองค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ คือคอยติดตามและเฝ้าระวังในเรื่องที่เกี่ยวกับการทุจริตต่างๆ เพียงแต่จะไม่มีการทำรายงานประจำปีออกมาเหมือนกับองค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ[8]

ใกล้เคียง